Search

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กับ “ตลาดต้องห้าม” ที่ผู้ติดตามต้องแลกความเสี่ยง - บีบีซีไทย

marketsmd.blogspot.com

นายปวิน และนายสมศักดิ์
คำบรรยายภาพ,

นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สองนักวิชาการผู้ลี้ภัยในต่างแดน

สองสัปดาห์มาแล้วที่เพจเฟซบุ๊กกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง ที่ตั้งขึ้นใหม่ทันทีหลังจากเพจกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ที่มาก่อนถูกปิดกั้นการเข้าถึงในเมืองไทย กลุ่มใหม่ที่ตั้งขึ้นมียอดสมาชิกโตวันโตคืน เกินกว่า 1.27 ล้านคน แซงหน้ากลุ่มแรก และสมาชิกยังสามารถเข้าถึงเนื้อหาในกลุ่มใหม่ได้ไม่ว่าที่ไหนในโลก รวมถึงในไทย

กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง โพสต์เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทย ในทำนองเดียวกับที่ทำให้เพจกลุ่มแรกต้องถูกปิดกั้นในไทย และเป็นเหตุให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ก่อตั้งและบริหารจัดการเพจ (แอดมินเพจ) และผู้เกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง

เฟซบุ๊กประกาศในเวลานั้นว่าจะโต้แย้งทางกฎหมายต่อทางการไทยที่ขอให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเรื่องราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส แต่ดูเหมือนทางการไทยจะเห็นคำประกาศของเฟซบุ๊กเป็นเพียงคำขู่ของเสือกระดาษ

"ผมเชื่อว่าการฟ้องร้องอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเวลา 10 กว่าวัน ทางเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ทวิตเตอร์ ให้ความร่วมมือลบเนื้อหาดังกล่าวทั้งหมด แม้กระทั่งติ๊กต็อก" พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวไว้เมื่อ 26 ส.ค. หนึ่งวันหลังเฟซบุ๊กบอกว่าจะตอบโต้ทางกฎหมายต่อไทย

ฝ่ายที่ไม่แน่ใจในท่าทีของเฟซบุ๊กอีกคนคือแอดมินเพจเอง ที่เกรงว่าสิ่งที่เฟซบุ๊กพูดอาจเป็นเพียง "ลมปาก"

"ผมคิดว่าการที่เฟซบุ๊กมาต่อสู้รอบนี้ ต้องรอดูว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้าจริงจะทำให้ขบวนการข่มขู่คุกคามของรัฐบาลไม่ง่ายอย่างที่เขาคิด คือเมื่อปิดแล้วเฟซบุ๊กสู้ และหากมีการปิด (กลุ่มใหม่) ปุ๊บผมเชื่อว่าเฟซบุ๊กต้องออกมาสู้อีกถ้าเกิดว่าเขาทำในครั้งแรก" ดร.ปวิน นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชื่อดัง บอกกับบีบีซีไทย

แอดมินเพจฝีปากกล้าหวังว่าเครือข่ายโซเชียลมีเดียใหญ่ที่สุดในโลกจะมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจจนเกินไป

เมื่อปี 2018 เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านคนไปใช้เพื่อชักจูงผลการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2016 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการที่หละหลวมต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ จนอาจนำไปสู่การแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้น และยังถูกกล่าวหาว่าเลือกข้างทางการเมืองกับปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความที่สร้างความเกลียดชังในอินเดีย

บีบีซีไทยสอบถามไปที่เฟซบุ๊กในเรื่องที่จะโต้แย้งทางกฎหมายต่อทางการไทย ได้รับคำตอบว่า ว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่พร้อมจะแจ้งให้ทราบ

ในขณะนี้ผู้ใช้ในไทยยังเข้าไปดูเนื้อหาที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวงได้ แม้ก่อนหน้านี้ รมว.ดิจิทัลฯ บอกว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหากพบว่ากลุ่มเฟซบุ๊กที่จัดตั้งขึ้นใหม่กระทำความผิด

"ถ้าคุณมีเวลาปิดกลุ่ม ผมก็มีเวลาไปเปิด คุณปิด ผมเปิด คุณปิด ผมเปิด" คือคำตอบของ ดร.ปวิน

คำบรรยายภาพ,

ผู้จัดกิจกรรม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เปิดคลิป ดร.ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ลี้ภัยทางการเมือง

อยากรู้เรื่องเจ้าต้องยอมรับความเสี่ยง

เนื้อหาหลักของการพูดคุยในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง ยังเน้นที่สถาบันสูงสุดของไทย มีเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้าน และการเมืองอื่น ๆ แทรกอยู่บ้าง นอกจากนี้ ยังมีผู้โพสต์วิดีโอการบรรยายทางวิชาการ ที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการผู้ลี้ภัย ที่ผู้ติดตามเขายกให้เป็น "บิดา" ตัวจริงแห่งข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับสถาบันชั้นสูงของประเทศ

ดร.ปวิน ยอมรับว่าสิ่งที่สนทนาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มมีโอกาสทำให้ลูกเพจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกับเขา

"ผมเข้าใจความเสี่ยงของสมาชิกที่ต้องการรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการต่อสู้อะไรก็ตามโดยเฉพาะเพื่อระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการหยิบเอาประเด็นที่อ่อนไหว ประเด็นต้องห้ามในสังคมมาเป็นระยะเวลานาน (มาพูด) มันมีความเสี่ยงเสมอ ผมคิดว่าคนที่กำลังต้องการจะค้นหาความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ต้องยอมรับข้อมูลตรงนี้ว่ามีความเสี่ยง"

แต่เขาเห็นว่าการที่กลุ่มมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภูมิคุ้มกัน และแสดงให้เห็นว่าคนได้ก้าวข้ามความกลัวที่จะพูดเรื่องต้องห้ามนี้แล้ว

ท่าทีเสียดสีหรือทรงภูมิ

แม้ต้องการให้เพจกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง และกลุ่มแรกที่ตั้งขึ้นเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่บ่อยครั้งข้อความและคลิปวิดีโอที่แอดมินเพจโพสต์เอง กลับปรากฏข้อความซุบซิบ เสียดสี หรือออกไปในแนวบันเทิง ซึ่งเจ้าตัวให้เหตุผลว่า

"ผมมีสองบุคลิก ชอบหรือไม่ ไม่แคร์ ในแง่มุมหนึ่งผมเป็นนักวิชาการ เขียนหนังสือและบทความมากมาย และอีกมุมผมเป็นคนที่ชอบเสียดสี ผมเชื่อว่าการเสียดสี เป็นอาวุธแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการเสียดสีสิ่งที่คนบูชามาก ๆ ช่วยปลดล็อกให้พูดถึงมันได้ง่ายขึ้น"

สมาชิกที่เข้ามาสนทนาในกลุ่มมีตั้งแต่ผู้มีความรู้เรื่องเจ้าระดับ "เบื้องต้น" ไปจนถึง "ระดับสูง" และมีภูมิหลังแตกต่างกัน

"บางทีผมพูดถึงลูกอีเย็นที่มาจากหนองบัวลำภู เราจะไปอธิบายเรื่องเครือข่ายราชสำนัก เขาอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าผมย่อยและทำเป็นแนวบันเทิง ไม่ว่าจะผ่านติ๊กต็อกหรืออะไรก็ตามแต่ ผมคิดว่ามันเป็นวิธีที่ชาญฉลาดที่ผมสามารถสนองความต้องการของแต่ละคนได้"

ส่วนที่จะถูกมองว่าเป็นกลุ่ม "ซุบซิบ" นั้น เขาเห็นว่าเพราะไม่เคยมีการเปิดโอกาสให้มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ดังนั้นคนจึงต้องลงไปซุบซิบนินทา

ดร.ปวินยืนยันว่ากลุ่มในเฟซบุ๊กของเขา มีข้อมูลทางวิชาการหลายเรื่องที่มีเอกสารหลักฐานรับรองอย่างถูกต้อง และเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้จริง

คำบรรยายภาพ,

กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ผิดกฎหมายไทย-ไทยภักดีไม่ยอม

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวง และโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อ 19 ส.ค. ต่อ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเฟซบุ๊ก "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" ฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนายปวิน นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองชื่อดังในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ (แอดมิน) เพจดังกล่าว

นายภุชพงค์เตือนประชาชนที่เผยแพร่ข้อความจากเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสว่าสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นกัน

"ที่เรามานำเรียนและแถลงข่าวในครั้งนี้ ก็เพราะผมไม่อยากให้ตกเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะการเผยแพร่ต่อในความผิดที่ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5)" นายภุชพงค์อธิบาย

ทั้งนี้มาตรา 14 (5) ระบุว่า ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน ปลอม เป็นเท็จ สร้างความเสียหายต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ต่อมาวันที่ 31 ส.ค. ตัวแทนกลุ่มไทยภักดี รวมตัวหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ ยื่นหนังสือ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น เสนอข้อเรียกร้อง 4 ประการ เพื่อขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการจัดการกับ นายปวิน เนื่องจากเป็นผู้ที่นำเสนอข้อมูลบิดเบือนต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันไปเผยแพร่บนสื่อออนไลน์จนอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย โดยขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดยั้งและตรวจสอบพฤติกรรมของนายปวิน

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาคือจุดเปลี่ยนสำคัญ

นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต มองการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาที่พ่วงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไว้ด้วยว่านำไปสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แม้ในอดีต "กลุ่มคนเสื้อแดง" จะเคยพูดเรื่องนี้ แต่เขาเห็นว่าเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีสาระที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันฯ

"นักศึกษาไปไกลว่าที่เขาจะเดินลงมาอีกแล้ว ดังนั้นการตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลว่าจะมีความอดทนมากน้อยแค่ไหน แล้วจุดจบคืออะไร แน่นอนว่ารัฐบาลคงรับข้อเสนอนี้ไม่ได้ และเริ่มใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ อย่างแรกคือใช้เครื่องมือกฎหมายจับกุมนักศึกษาบนถนน ส่วนในโลกออนไลน์คือบล็อกกลุ่มของปวิน"

แม้ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนับจากนี้ แต่อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศประเมินว่าจุดหมายปลายทางของสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคือการใช้ความรุนแรง ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทยโดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาอย่างที่เคยเกิดมาในอดีต

"บอกตามตรงว่าหนักใจ ถึงแม้นักศึกษามีความกล้าหาญมาก ๆ แต่มองไปข้างหน้า ก็ยังไม่ใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ… ความหวังที่ต่ำต้อยมาก ๆ คือหวังว่าพรรคการเมืองจะหยิบเรื่องนี้ไปถกกันในรัฐสภาตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น…ฝ่ายค้านนั้นกำลังติดกับดัก คุณไม่สามารถพูดอะไรที่ต่ำกว่าที่นักศึกษาพูดแล้ว เพราะคุณจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายในทางการเมืองอีกเลย แต่หากพูดแค่เท่านักศึกษา ก็จะถูกฝ่ายจารีตเล่นงาน…แต่ต้องรำลึกว่าหน้าที่คือต้องนำสิ่งที่ประชาชนต้องการไปสานต่อแม้จะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม"




September 08, 2020 at 03:09AM
https://ift.tt/328pBhG

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กับ “ตลาดต้องห้าม” ที่ผู้ติดตามต้องแลกความเสี่ยง - บีบีซีไทย

https://ift.tt/3azMLPC


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กับ “ตลาดต้องห้าม” ที่ผู้ติดตามต้องแลกความเสี่ยง - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.